โลกแห่งการค้นหา..เพื่อชีวิต
แกะรอยเสื้อผ้าแฟชั่นใหม่ๆไทยเคาะประตูกรุงปารีส III
เสื้อผ้าแฟชั่นโชว์เซตที่สามโชว์ความเป็นจริงของผู้หญิงอีกเซตหนึ่ง เป็นโชว์ของ Sretsis (ชื่อแบรนด์ได้มาจากการเขียนกลับจากหลังไปหน้า ถ้าอ่านจากด้านหลังมา แบรนด์นี้ก็มาจากคำว่า sisters นั่นเอง) ทุกอย่างที่ปรากฎกลางแคตวอล์กของ Sretsis คือความเป็นหญิงสาววัยเยาว์ที่ดูอ่อนหวาน สดใส ซุกซน มีความเป็นตัวของตัวเอง และในความอ่อนหวานนั้นแอบมีความเปรี้ยวซ่อนอยู่ นอกจากการใช้เนื้อผ้าบางเบา การเล่นระบาย ผู้ชมหลายคนติดใจกับลูกเล่นโบเส้นเล็กๆ ที่ผูกไว้ด้านหลังชุดเดรส ทิ้งชายโบยาว ที่ชายโบยังแอบห้อยคริสตัลน่ารักปัดไปปัดมายามเดินอีกด้วย ขณะที่ Fly Now นำแนวคิดการใช้เสื้อผ้าแนว วิคตอเรียน สไตล์ จากยุคซิกซ์ตี้ส์ เซเว่นตี้ส์ และ เอทตี้ส์ ที่ดูล้าสมัยไปแล้วมาสร้างสรรค์ใหม่ให้มีความโปร่ง สบาย น่าสวมใส่ขึ้น โดยเลือกเฉพาะจุดเด่นของเสื้อผ้าแต่ละยุคมาใช้ในการออกแบบ ภารกิจเดินแบบในกรุงปารีสครั้งนี้ สิบนางแบบไทยที่ได้รับเลือกให้ไปไว้ลายนางแบบไทยคือ สิรินยา เบอร์บริดจ์ วนิดา เฟเวอร์ รัศมี ทองศิริไพรศรี ราศี วัชรพลเมฆ พรวดี พงษ์สาธิต มาริสา แอนนิต้า น้ำทิพย์ จงรัชตวิบูลย์ กัญณัฐ บำรุงพงษ์ สุทธิกาญจน์ หวังเจริญทวีกุล และ เอมี่ สเทมส์ ดีไซเนอร์ไทยผู้เป็นเจ้าของโชว์ต่างรู้สึกยินดีและพอใจที่มีโอกาสนำผลงานแฟชั่นของตนไปเปิดการแสดงแฟชั่นเต็มรูปแบบที่กรุงปารีส ความหวังของทุกคนคือ อยากให้ปารีสรู้ ว่าเมืองไทยก็มีดีไซเนอร์หลายคนที่มีความสามารถและรู้จักเมืองไทยในแง่ของความเป็นเมืองที่มีแฟชั่นน่าสนใจ มากกว่าภาพลักษณ์ในแง่ลบเชิงอื่นๆ ถือเป็นก้าวแรกและเป็นก้าวสำคัญของดีไซเนอร์เมืองไทยที่มีโอกาสก้าวมา ณ จุดนี้ มร.เอมมานูแอล เดอ กาซชอง (Mr.Emmaruel de Gagasson) ชาวฝรั่งเศสซึ่งทำงานในบริษัทแฟชั่นชื่อดัง Escada เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับบัตรเชิญมาชมงาน กล่าวกับ 'กรุงเทพธุรกิจ' ว่า ถึงแม้เขาจะยังจำชื่อแบรนด์แฟชั่นของไทยไม่ได้ แต่เขาก็ชอบโชว์ที่หนึ่งและโชว์ที่สองมาก (เซนาด้าและเกรย์ตามลำดับ) เสื้อผ้าแฟชั่นใหม่ๆมีความน่าสนใจมากทั้งสไตล์และวัสดุที่นำมาใช้ เต็มไปด้วยความดึงดูดใจ โดยเฉพาะโชว์ที่สอง เสื้อผ้ามีความเป็นผู้หญิงที่น่าประทับใจและน่าหลงใหลมาก ส่วนโชว์เซตอื่นเขารู้สึกว่าอยู่ในขั้น “ทั่วๆ ไป” และให้สัมภาษณ์ด้วยว่า เขาไม่เคยรู้จักประเทศไทยในแง่ที่มีแฟชั่นดีไซเนอร์ที่มีความสามารถแบบนี้มาก่อน ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เขารู้จักประเทศไทยในภาพลักษณ์เช่นนี้ ผู้ได้รับบัตรเชิญเข้าชมงานอีกคน ไดอาน่า คานินัว (Diana Caninoa) อดีตนางแบบซึ่งเกิดในอาร์เจนติน่าและกลายเป็นนักแสดงในฝรั่งเศส ใช้ชีวิตอยู่ในฝรั่งเศสมา 15 ปีแล้ว ให้สัมภาษณ์ว่า เธอเคยเห็นผลงานของดีไซเนอร์ไทยในมิลานและฮ่องกงมาก่อน และนั่นทำให้เธอกระตือรือล้นที่จะมาร่วมงานนี้ เนื่องจากผลงานของดีไซเนอร์ไทยที่เธอเคยเห็นนั้นน่าสนใจมาก เท่าที่ผ่านมาเธอเห็นแฟชั่นจากญี่ปุ่นอยู่เสมอ แต่แฟชั่นจากไทยนั้นมีไม่มากเลย “ครั้งนี้ฉันเห็นว่าดีไซน์ของไทยนั้นมีความโรแมนติกและมีความเป็นผู้หญิงมาก ดีไซเนอร์ทำงานหนักมากกับเสื้อผ้าที่เขาออกแบบ ตั้งแต่โครงเสื้อ การตัดเย็บ และการออกแบบ งานที่ปรากฎบนเสื้อผ้าเต็มไปด้วยความยอดเยี่ยม” ไดอาน่ายังให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับ 'อินดีเพนเดนท์โชว์' ครั้งนี้ของไทยด้วยว่า นับว่าเป็นแฟชั่นโชว์ที่แตกต่างจากโชว์อื่นๆ ในปารีส ตรงที่ไทยเลือกที่จะโชว์เสื้อผ้าเป็นหลัก ไดอาน่ารู้สึกว่า “เสื้อผ้ามีความสำคัญมากกว่านางแบบ โดยปกติแล้วผู้คนมักมองที่นางแบบก่อนแล้วค่อยมองเสื้อผ้า แต่โชว์นี้ทำให้ฉันต้องให้ความสนใจไปที่เสื้อผ้าซึ่งขับความเป็นผู้หญิงในตัวนางแบบออกมา เสื้อผ้าคือความสำคัญหลัก ไม่ใช่นางแบบ ผู้แสดงแบบบางคนทำผมธรรมดามาก แต่พวกเธอดูงามสง่าเมื่อสวมใส่เสื้อผ้าแฟชั่นอินเทรนด์เหล่านี้” ปารีสคือเมืองหลวงแฟชั่นที่ทั่วโลกไม่สงสัย การได้เปิดแสดงแฟชั่นโชว์เต็มรูปแบบในปารีสของดีไซเนอร์ชาติไหนๆ ก็ตาม เป็นสิ่งสำคัญมาก โดยเฉพาะเมืองไทยซึ่งไม่ใช่ทุกคนทั่วโลกจะรู้จักในฐานะเป็นประเทศที่มีแฟชั่น แต่ตอนนี้แฟชั่นไทยได้ไปเคาะประตูแฟชั่นที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อที่จะเปิดเข้าไปสู่ความเป็นสังคมแฟชั่นโลกแล้ว แต่เจ้าของบ้านจะเปิดประตูหรือไม่ ความตั้งใจจริงของผู้ไปเยือนจะพิสูจน์ในเวลาข้างหน้า