โลกแห่งการค้นหา..เพื่อชีวิต
แกะรอยเสื้อผ้าแฟชั่นใหม่ๆไทยเคาะประตูกรุงปารีส2
แขกรับเชิญเริ่มมายืนออบริเวณลานด้านข้างปาเลส์ บรองเนียตตั้งแต่สองทุ่ม ขั้นตอนของงานจริงๆ เริ่มเวลา 21.00 น.ในลักษณะ 'ปาร์ตี้ต้อนรับ' เสื้อผ้าแฟชั่นอินเทรนด์ที่โถงใกล้ระเบียงมุมหนึ่งภายในปาเลส์ บรองเนียต บริการเครื่องดื่มท่ามกลางเสียงดนตรีกระหึ่มหู แสงไฟวูบวาบอยู่ในความสลัว กลางห้องโถงแขกเหรื่อตื่นตาตื่นใจกับการหามุมถ่ายรูปคู่กับ รถตุ๊กตุ๊กประดับคริสตัล ผลงานของ คริส ฟู อดีตนักเรียนโรงเรียนนานาชาติในกรุงเทพฯ ที่กำลังริเริ่มแบรนด์เครื่องประดับของตนเองโดยการนำคริสตัลสวารอฟสกี้มาประดับบนครื่องประดับแนวฮิพฮอพ ครั้งนี้เขาได้รับมอบหมายให้นำคริสตัลกว่าหนึ่งแสนเม็ดประดับบนรถตุ๊กตุ๊ก เพื่อนำมาจัดแสดงในงานนี้ สื่อให้เห็นว่าดีไซเนอร์ในเมืองไทยไม่ได้เก่งแต่การผลิตเครื่องประดับจากอัญมณีเท่านั้น แต่ยังสามารถทำงานศิลปะด้วยอัญมณีได้อย่างงดงาม ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวคิด 'เมด อิน แบงค็อก' นั่นเอง แล้วเวลาที่ทุกคนรอคอยก็มาถึงภายหลังปาร์ตี้ต้อนรับที่กินเวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่งผ่านไป แขกรับเชิญได้รับการทยอยจัดให้เข้าประจำที่นั่งชมแฟชั่นโชว์ซึ่งอยู่ในโถงขนาดใหญ่ที่อยู่ติดกัน การจัดพื้นที่นั่งชมดูคล้ายอัฒจรรย์เชียร์กีฬาที่มีแถวที่นั่งเรียงซ้อนกันขึ้นไปประมาณ 7 แถว ยาวขนานไปกับความยาวของห้องโถงราว 40-50 เมตร โดยเว้นเนื้อที่ส่วนหนึ่งบนพื้นเป็นแคตวอล์ก โถงบริเวณนี้มีพื้นเป็นไม้ ด้านที่อยู่ตรงข้ามกับที่นั่งชมแฟชั่นโชว์เป็นเสาหินต้นใหญ่ๆ เรียงกัน หัวเสาแต่ละต้นโค้งเข้าหากันเหมือนซุ้มประตูโค้ง ช่องว่างระหว่างเสาแต่ละต้นขึงจอผ้าสีขาว ทั้งตัวเสาและจอผ้าทำหน้าที่เหมือนจอขนาดมหึมาเพื่อรองรับภาพวีดีทัศน์บอกเล่าเรื่องราวของวิถีชีวิตความเป็นกรุงเทพฯ และประเทศไทยมุมต่างๆ วีดีทัศน์นี้ฉายก่อนการเปิดตัวแฟชั่นโชว์แต่ละเซต เมด อิน แบงค็อก เซตแรก ประเดิมด้วยคอลเลคชั่น Romantic Prep เสื้อผ้าแฟชั่นใหม่ๆคอลเลคชั่นใหม่ของ Senada Theory ตั้งใจโชว์เสื้อผ้าที่เต็มไปด้วยความเป็นผู้หญิง ชนิตา ปรีชาวิทยากุล ดีไซเนอร์ ทำเสื้อผ้าคอลเลคชั่นนี้โดยมี เครื่องแบบ (Uniform) ของนักเรียนอังกฤษเป็นแรงบันดาลใจ เช่น เบรเซอร์ สูทแจ็คเก็ต กระโปรงพลีต เสื้อเชิ้ต กางเกง ใช้โครงสร้างคลาสสิกของเสื้อผ้าแนวนี้ แต่ทำให้ดูหวาน ดูเป็นผู้หญิง ด้วยเนื้อผ้าและโทนสีบางเบา (ขาวนวล ชมพูตุ่น ม่วงเทา เขียวหม่น วานิลลาครีม) ผสมด้วยเทคนิครูดสม็อค งานปักมือ งานผ้าลูกไม้ แฟชั่นโชว์เซตที่สองมีความเป็น คอนเซปท์ชวล (Conceptual) เด่นชัดขึ้น ผู้ที่นั่งชมหันหน้าคุยกันถึงคอลเลคชั่น Asian Surprise ของ Grey ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเครื่องแบบทหารหลายชาติในเอเชีย ภาณุ อิงควัต ในฐานะดีไซเนอร์ของเกรย์บอกว่า เครื่องแบบทหารแบบเกรย์สะท้อนความแข็งแกร่ง ศรัทธา ความเชื่อ วัฒนธรรม ความรู้สึกนึกคิดที่อยู่ในเครื่องแบบทหาร แต่แฝงกลิ่นอายความเป็นเอเชียตรงความพิถีพิถันในการประดิดประดอย แฟชั่นโชว์ของเกรย์เป็นโชว์เต็มรูปแบบ อวดแนวคิดที่บอกถึงรายละเอียดที่จะใส่ไว้ในคอลเลคชั่น เช่น รูปทรงของกางเกง การเพิ่มเส้นสายให้เนื้อผ้า การนำกระดุมมาตกแต่ง โทนสีพาสเทล และให้นางแบบนายแบบเทินสิ่งของไว้เหนือศีรษะเพื่อดึงดูดความน่าสนใจให้กับโชว์เสื้อผ้าแฟชั่น